Album Gallery Songkhla Rajabhat University

ประมวลภาพกิจกรรมเหตุการณ์ต่างของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ ณ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา โดยมี รศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม คณบดีคณะเทคโนโลยีเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวต้อนรับและเปิดการอบรม สำหรับการอบรมในครั้งนี้ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ได้รับความร่วมมือจากทีมงานและเจ้าหน้าที่ช่างของบริษัท คูโบต้าหาดใหญ่จักรกล จำกัด ได้แก่ นายประเสริฐ เหล่าสุวรรณ (ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป) นายกอบศักดิ์ รามสูต (หัวหน้าขาย) นายรณชัย ราชวังเมือง (หัวหน้าช่างบริการ) นายธนเดช สุขนุ่ม (เจ้าหน้าที่การตลาด) นายอภิพัฒน์ รักพูนแก้ว (ช่างเค/รถขุด) นายทรงศักดิ์ เหมาะดี (ช่างเล็ก/รถแทร็กเตอร์) และ นายธนเดช สุขนุ่ม (เจ้าหน้าที่การตลาด) พร้อมทีมงาน เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษา ในหลักสูตรนักขับรถขุดมืออาชีพ และ หลักสูตรนักขับแทร็กเตอร์มืออาชีพ ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรจะช่วยให้นักศึกษาผู้เข้าอบรมสามารถใช้งานและบำรุงรักษาแทรกเตอร์ได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนสามารถตรวจเช็คและปรับตั้งแทรกเตอร์ และใช้แทรกเตอร์ร่วมกับอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้องต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนฝึกทักษะในการทำการเกษตร ตามคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของทางหลักสูตรฯ และเพื่อพัฒนานักศึกษาและเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการด้านการผลิตพืช รศ.ดร.คริษฐ์สพล กล่าวว่า เป้าหมายของคณะเทคโนโลยีการเกษตรและหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ต้องการฝึกนักศึกษาให้สามารถปฏิบัติทักษะในสาขาวิชาชีพ ก่อนที่นักศึกษาจะออกฝึกปฏิบัติประสบการณ์วิชาชีพในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันการทำการเกษตรมีการใช้เครื่องจักรกลในรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงรูปแบบทางการเกษตรแบบอัจฉริยะ โดยการอบรมในครั้งนี้เป็นการฝึกทักษะให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ 3 เพื่อเป็นการปูพื้นฐานสำหรับการใช้รถขุดและรถแทร็กเตอร์ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ด้าน ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันในการทำการเกษตรจะเห็นได้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีการพึ่งพาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่หลากหลาย เพื่อลดภาระการใช้แรงงานและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ระบบการให้น้ำอัจฉริยะ การไถแปลงในรูปแบบของเครื่องจักรกลไร้คนขับ หรือการใช้โดรนทางการเกษตร ซึ่งล้วนทำให้การประกอบอาชีพทางการเกษตรสะดวกและง่ายขึ้น ส่วนสำคัญในการฝึกปฏิบัติทักษะเบื้องต้นนี้ นักศึกษาสามารถเรียนรู้ในเรื่องของการใช้รถขุดและรถแทร็กเตอร์ได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งมีการลงมือปฏิบัติจริง และเรียนรู้วิธีการดูแลรักษาปฏิบัติเครื่องยนต์ได้