Album Gallery Songkhla Rajabhat University
ประมวลภาพกิจกรรมเหตุการณ์ต่างของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
หลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เดินหน้าโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ?การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชโรงเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ? จัดเต็มความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติการผลิตพืช การจัดการดินและปุ๋ย ควบคู่เรียนรู้การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม หวังปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงในอนาคต
ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล ประธานหลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า หลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ได้จัดทำโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ?การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชโรงเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ? สร้างกำลังคนสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ตอบโจทย์เกษตรกรยุคใหม่ และยังรองรับการเทียบโอนในระบบคลังหน่วยกิต เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะให้กับนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจในด้านการเกษตรสมัยใหม่ เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลผลิตในโรงเรือนแบบอัตโนมัติ ยกระดับการผลิตพืชให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และยั่งยืน โดยได้เริ่มจัดโครงการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน
ภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อการผลิตพืช การจัดการดินและปุ๋ย การใช้วัสดุปลูก การผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ จากผู้เชี่ยวชาญอย่าง ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง อาจารย์หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช มรภ.สงขลา ซึ่งได้แบ่งปันความรู้ด้านหลักการและเทคนิคการทำเกษตรอย่างละเอียด พร้อมลงมือทำในทุกขั้นตอน เพื่อเสริมสร้างทักษะการผลิตในภาคสนามตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน
นอกจากนั้น ผู้เข้าอบรมยังได้มีโอกาสเรียนรู้การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มจากผู้มีประสบการณ์ นายกรวิชญ์ มาระเสนา ประธานเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดสงขลา มาร่วมให้ความรู้และคำแนะนำ ทั้งในแง่ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ทำน้อยแต่ได้มาก พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายในการทำเกษตรที่เต็มไปด้วยความสุขและความสำเร็จ
ที่สำคัญ ผู้เข้าอบรมยังได้เรียนรู้ขั้นตอนการออกแบบและสร้างโรงเรือน ทั้งการเตรียมพื้นที่ เตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง งานเหล็กในการเชื่อมเสา เชื่อมคานโรงเรือน และการทำงานคอนกรีตเทโคน โดยมี นายไพรวัลย์ สิริทรัพย์นพคุณ อดีตวิศวกรจากบริษัทเอกชนในสายงานโทรคมนาคม ผู้มีความสามารถสูงและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าอบรม พร้อมลงมือทำทุกขั้นตอน เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำงานที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และการพัฒนาเกษตรกรรมในยุคดิจิทัล
ที่พลาดไม่ได้เลยคือ กิจกรรมถัดไปหลังจากสร้างโรงเรือนเสร็จ จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบและติดตั้งระบบอัตโนมัติในโรงเรือน เชื่อมโยงผ่านมือถือ ระบบปลูกในโรงเรือน การจัดการดูแลพืชปลูกในโรงเรือน รวมไปถึงการดูงานนอกสถานที่ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มทักษะและความรู้ให้กับผู้เรียนเท่านั้น ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการเทียบโอนหน่วยกิตในโมดูลการผลิตเกษตรปลอดภัย ซึ่งเป็นการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้เป็นเกษตรกรสมัยใหม่ที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าและผลผลิตทางการเกษตร และเปิดโอกาสในการสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ในวงการเกษตร โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตพืชและการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูงในอนาคตที่ต้องการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก
ทั้งนี้ โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ?การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชโรงเรือนด้วยระบบอัตโนมัติ? มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา
ข้อมูล โดย ผศ.ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล ประธานหลักสูตร วท.บ.เกษตรศาสตร์
รูปจากเพจ เกษตรศาสตร์-หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต-ม.ราชภัฏสงขลา